สรุปบทเรียนการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและฟื้นฟูอาชีพและรายได้ฯ พื้นที่ อ.เมือง จ.พะเยา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 ทางโครงการส่งเสริมและฟื้นฟูอาชีพและรายได้เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ลงพื้นที่เพื่อจัดประชุมสรุปบทเรียนผลการดำเนินงานโครงการฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้จากกลุ่มอาชีพค้าขาย “กว๊านพะเยาซีฟู๊ด” และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา อ.เมือง จ.พะเยา ที่ เฮือนไม้ดอก โฮมเสย์ ต.แม่ใส อ.เมือง จ.พะเยา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 20 คน

เนื้อหาสรุปบทเรียนให้ความสำคัญกับผลการบรรลุผลตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และตัวชี้วัดโครงการย่อย โดยใช้กระบวนการกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน สรุปสาระสำคัญของการนำเสนอแต่ละกลุ่มดังนี้

  1. กลุ่มกว๊านทะเลซีฟู๊ด : คณะทำงานโครงการฯ สามารถปรับกระบวนการดำเนินงานได้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 โดยปรับวิธีการทำงานใหม่ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและถูกหลักอาชีวอนามัย คือ การปรับสถานที่ทำงานให้สะอาดและเหมาะกับการแพ็คผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกลุ่มสมาชิกได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานด้วยการแต่งกายที่สะอาด มีหมวกคลุมผม ถุงมือ ผ้ากันเปื้อนสวมใส่ทุกครั้งก่อนดำเนินการผลิตก่อนถึงมือผู้บริโภค ขณะเดียวกันมีการให้ความรู้กับสมาชิกกลุ่มเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพกายและใจ การเงิน การออมเงินภายในกลุ่มเพื่อสร้างสวัสดิการร่วมกัน ซึ่งหลังจากดำเนินงานโครงการฯ พบว่า สมาชิกกลุ่มมีรายได้และออมเงิมจากการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มและเกิดการขยายผลสมาชิกกลุ่มในอำเภอต่างๆ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายเพื่อช่องทางการจำหน่ายสินค้ากับหน่วยงานเช่น รพ. รพ.สต. อปท. ศาลากลางจังหวัด ฯลฯ ส่งผลให้สมาชิกมีเงินออมและสามารถเก็บเงินซื้ออุปกรณ์ในการเก็บสินค้าได้ ส่วนด้านการประเมินระดับความมุข-ทุกข์พบว่า สมาชิกส่วนใหญ่มีความสุขที่เพิ่มขึ้น (จากผลการประเมินก่อน-ระหว่าง-หลัง)
  2. กลุ่มแปรรูปผักตบชวา : คณะทำงานโครงการฯ สามารถปรับวิธีการทำงานใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 และการปรับเปลี่ยนแกนนำโครงการฯ โดยการผลักดันแกนนำคนรุ่นใหม่มาร่วมเสริมศักยภาพการทำงานโครงการฯ ที่มีทักษะและความรู้เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา ทำให้สมาชิกกลุ่มมีความสุขในการทำงานมากขึ้น เพราะทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของแกนนำที่มีประสบการณ์ ส่งผลให้กลุ่มมีองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาโดยเน้นใช้ทุกส่วนของผักตบชวาในการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ นอกจากนี้ยังพบว่าสมาชิกมีรายได้เพิ่มเติมจากการทำงานและมีเงินออมเพิ่มมากขึ้น (จากข้อมูลสมุดออมเงินของสมาชิกกลุ่ม) ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มมี Order ความต้องการในการผลิตสินค้ามากขึ้น มีสั่งมาจากหน่วยงานและร้านค้าประจำ
  3. ปัญหาอุปสรรค : จากช่วงโควิด-19 ส่งผลให้กลุ่มไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ทำให้ขาดรายได้ในช่วงนั้น และไม่สามารถรวมกลุ่มทำงานร่วมกันได้ จึงต้องปรับมาทำที่บ้านแทน นอกจากนั้นพบว่าราคาต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้กลุ่มไม่มีเงินหมุนเวียน ส่วนกลุ่มแปรรูปผักตบชวาพบว่า วัตถุดิบในการผลิตมีน้อยเนื่องจากทางหน่วยงานได้ทำลายผักตบชวาที่มีจำนวนมากในแม่น้ำ
  4. แนวทางการแก้ไขปัญหา : การระดมทุนเพื่อหาเงินซื้อวัตถุดิบและมีการปรับเปลี่ยนวิธีการขายของเพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้มากขึ้น รวมทั้งการเสริมทักษะการขายแก่สมาชิกกลุ่มและให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักในการออมเงินและจัดการหนี้สินอย่างเป็นระบบ
  5. องค์ความรู้เกิดจากการดำเนินงาน : เรื่องการบริหารจัดการตลาดอย่างเป็นระบบโดยใช้หลักการความรอบรู้ไปปรับใช้ และกระบวนการคิดเชิงระบบเพื่อการผลิตโดยใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

Categories: กิจกรรมความร่วมมือ