เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : งานเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2567 วาระ : ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ
สุขภาวะดี เริ่มจากชุมชนที่เข้มแข็ง
“…ชุมชนท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืนในระดับประเทศ ดังนั้นโจทย์ของการสร้างสุขภาวะชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย จำเป็นต้องสร้างสุขภาวะเชิงระบบที่ครอบคลุม ทั้งบุคคล สังคม และสภาพแวดล้อม หากชุมชนอ่อนแอ จะส่งผลให้เกิดวิกฤติเชิงซ้อนที่กระทบทั้งองค์รวม และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม…”
เป็นคำกล่าวของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ปี 2565-2570 และประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth In Charge ในโอกาสที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 3,618 แห่ง จัดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2567” เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2567 ที่ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
ตามด้วยข้อคิดการทำงานสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน โดยชุมชนท้องถิ่นเป็น “โซ่ข้อกลาง” หรือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน ผ่านมิติความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อาชีพ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์บุคคล ครอบครัวกับภูมิภาคประเทศ จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นแข็งแรง
“การจะสร้างความยั่งยืนในระดับประเทศได้ ต้องไม่เพียงแค่เป็น “ชุมชนที่น่าอยู่” เท่านั้น แต่ต้องเป็น “ชุมชนที่มีชีวิต” ทุกคนในชุมชนต้องสร้างการมีส่วนร่วมพร้อมขับเคลื่อนด้วยปัญญา ผ่านการบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพที่มีความเอื้ออาทรและแบ่งปัน สร้างวัฒนธรรมเพื่อการดำรงชีพร่วมกัน” ดร.สุวิทย์ กล่าวย้ำ
ขานรับ จาก ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า ความท้าทายของการใช้พื้นที่เป็นฐาน คือ ความแตกต่างของบริบทพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจ และการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และกลไกทำงาน เพื่อให้เกิดห่วงโซ่ผลลัพธ์ในการกำหนดมาตรการสุขภาพ ทั้งด้านวิถีชีวิต และพฤติกรรม ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม และกายภาพ ซึ่งล้วนต้องใช้ต้นทุนทางสังคม และมิอาจมองข้ามศักยภาพของชุมชนในพื้นที่เป็นฐานไปได้
อีกทั้งยังฉายภาพให้เห็นถึง ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ปัญหาการพนัน ยาเสพติด และอีกหลายปัญหาในท้องถิ่น ที่ต้องใช้ความเข้าใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดกลไกการทำงานที่นำไปสู่การสร้างสุขภาวะชุมชน ทั้งวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน
อย่างไรก็ตาม สสส. ยังคงมุ่งสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ผ่านแนวทางการจัดการทั้ง 3 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง การเสริมความเข้มแข็งของพื้นที่ ผ่านการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ สร้างรูปแบบทำงานที่สอดคล้องบริบท สถานการณ์ และความต้องการของพื้นที่ ส่วนที่สอง การสานพลังความร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และพัฒนากลไกการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ และ ส่วนที่สาม คือ การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน มีทั้งการสานพลังบูรณาการงานภายในของ สสส. เช่น เหล้า-บุหรี่, ผู้สูงอายุ, ความมั่นคงทางอาหาร, สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ดร.นิสา กล่าวย้ำอีกด้วยว่า ปัจจุบัน สสส. สานพลังร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มากถึง 3,618 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 46.54 จากทั้งประเทศ มีการทำงานสร้างส่วนร่วม สร้างการเรียนรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ข้อมูลพื้นที่เป็นฐานในงานวิจัยชุมชน ด้วยการเก็บวิเคราะห์ และใช้งานข้อมูลผ่านองค์กรท้องถิ่น ท้องที่ภาครัฐ และองค์กรชุมชน ผ่านประเด็นสุขภาวะต่าง ๆ ทั้งด้านอาหารปลอดภัย ปลูกผักกินเองในครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชน
น่ายินดีว่า ที่ผ่านมามีชุมชนสามารถจัดการตัวเองและแก้ไขปัญหาหนี้ได้ อาทิ ชุมชน ต.สันโป่ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่, ชุมชน ต.งิม อ.แม่เงา จ.พะเยา เกิดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ,ชุมชน ต.ชากไทย อ.เขาคิชฌกูฎ จ.จันทรบุรี ทุกแห่งสามารถจัดตั้งกองทุนการเงินชุมชน ช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้
“ดังนั้น จะเห็นว่าการผลักดันคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เสริมศักยภาพเด็กและเยาวชน การสร้างระบบอาหารของชุมชนที่เข้มแข็ง และการลดปัจจัยเสี่ยงในชุมชนอย่างปัญหาเหล้า-บุหรี่ สุขภาพจิต และหนี้ครัวเรือน เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถแก้ไขปัญหา และเสริมสร้างศักยภาพชุมชน สู่การพัฒนาสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนต่อไปได้” ดร.นิสา กล่าว
สอดรับกับการทำงานสร้างสุขภาวะของภาคชุมชน โดยในเวทีเสวนาฯ ดังกล่าวจาก นายณัฐพงศ์ ระโส ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำกุ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานสานพลังชุมชนฟื้นฟูพื้นที่ทางธรรมชาติ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ พร้อมแนวทางแก้ไข ว่า
“น้ำกุ่มเป็นพื้นที่ชายขอบของ จ.พิษณุโลก ที่ถูกโอบล้อมด้วยพื้นที่ป่าที่ในอดีตเคยเป็นพื้นที่สัมปทานป่าไม้ ทำให้พื้นที่ป่ากลายเป็นภูเขาหัวโล้น เกิดมลพิษ ขาดแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ไม่มีน้ำ แหล่งอาหาร แหล่งทำกิน ทำให้ขาดรายได้ เกิดปัญหาประชากรรั่วไหล เพราะไม่อาจใช้พื้นที่เป็นแหล่งทำกิน
แต่ปัจจุบันเราได้แก้ปัญหาพื้นที่ด้วยการฟื้นฟูป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ จนผืนป่ากลับมาเป็นแหล่งอาหารในชุมชนอีกครั้ง ด้วยการกระจายองค์ความรู้ด้านการจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืน อาทิ การจัดการขยะครัวเรือน การจัดการภัยพิบัติ เช่น ไฟป่า ดินถล่ม และปลูกฝังเยาวชนในพื้นที่ให้รักและดูแลพื้นที่ให้อุดมสมบูรณ์ตลอดไป” ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำกุ่ม กล่าว
ปลัดฯ ทิ้งท้ายอีกด้วยว่า การทำงานรักษาป่าทั้งผืน ไม่สามารถทำด้วยตัวเองเพียงคนเดียวได้ ต้องขอขอบคุณ สสส. ที่ทำให้เกิดการสานพลังการทำงานในชุมชนอย่างต่อเนื่องและเป็นเครือข่าย ทำให้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นตลอดมา ทั้งนี้เพื่อความสุขของคนในสังคมโดยรวม ”
สสส. มุ่งสานพลังภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ผ่านการสร้างฐานทำงานภายในชุมชน เพื่อยกระดับสุขภาวะองค์รวมในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ สู่การพัฒนายั่งยืนต่อไป