อาหารสมดุล หนุนนำสุขภาวะดียั่งยืน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อาหารสมดุล หนุนนำสุขภาวะดียั่งยืน

                    “…ทั่วทั้งโลกยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 36 ล้านคน ที่ยังเผชิญภาวะขาดสารอาหาร สะท้อนให้เห็นว่ายังมีกลุ่มเปราะบางที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ และไม่สามารถเข้าถึงอาหารตามหลักโภชนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย…”

                    เป็นคำกล่าวของ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโอกาสที่ สสส.ร่วมภาคีเครือข่ายสานพลังในประชุมเวทีบูรณาการและนวัตกรรมสังคมด้านอาหาร ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “บูรณาการเครือข่ายอาหาร สู่การบริโภคที่สมดุล ด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จ.นนทบุรี

                    เปิดรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ปี 2567 โดย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า มีประชากรเกือบ 282 ล้านคน ใน 59 ประเทศ กำลังเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารระดับวิกฤต ที่ไม่อาจเข้าถึงแหล่งอาหารตามหลักโภชนาการ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 24 ล้านคน นับเป็นจำนวนสูงสุดกว่าทุกครั้ง

                    ขณะที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยสถิติให้เห็นว่า 2 ใน 3 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เผชิญภาวะทุพโภชนาการ เป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย ซี่งเป็นสิ่งสะท้อนถึงความไม่เข้าถึงอาหารตามหลักโภชนาการได้อย่างชัดเจน โดยเป็นภาวะที่เด็กไทยกำลังเผชิญถึง 5-10% เลยทีเดียว

                    ตามด้วยรายงานจาก UNICEF เปิดเผยว่าประมาณ 1 ใน 10 ของเด็กในประเทศไทย เผชิญปัญหาความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง ส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของเด็ก อีกทั้งยังพบเด็กกลุ่มนี้ขาดสารอาหาร เช่น การขาดวิตามิน A และธาตุเหล็ก ทำให้เกิดปัญหาทุพโภชนาการอย่างต่อเนื่อง

                    อย่างไรก็ตาม รายงานวิกฤตการณ์อาหารโลกปี 2567 โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยังระบุว่า ความไม่มั่นคงทางอาหารและการขาดแคลนสารอาหารยังคงเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก

                    ก่อนหน้านี้ ในปี 2022 จากผลสำรวจของคันทาร์ ( Kantar) บริษัทวิจัยชั้นนำ ด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาทางการตลาดระดับโลก พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยต้องการอาหารที่ดี 91 %  แต่กลับพบว่ามีเพียง 42 % ที่สามารถใช้ชีวิตด้วยการกินอยู่อย่างสมดุลได้จริง

                    โดยข้อจำกัดที่ทำให้คนไทยไม่สามารถกินอยู่อย่างสมดุลได้ มีสาเหตุที่หลากหลาย อาทิ ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ทำให้การผลิตและการเข้าถึงคุณภาพอาหารแย่ลง รวมถึงประชาชนยังมีพฤติกรรมการบริโภคตามความชอบ และยังมีบริโภคผักผลไม้ได้น้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน

                    สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจในหลักการบริโภคอาหารสมดุลที่เหมาะสมกับช่วงวัยได้อย่างชัดเจน อีกทั้งการขาดต้นทุนองค์ความรู้ ทรัพยากร และเทคโนโลยีในการเพิ่มปริมาณผลผลิตในภาคการเกษตรของผู้ผลิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญในการสร้างพฤติกรรมการบริโภคอาหารสมดุลตามหลักโภชนาการอีกด้วย

                    “ซึ่งความร่วมมือกับการสานพลังภาคีทุกภาคส่วนของสสส. ขับเคลื่อนสร้างระบบอาหารยั่งยืน ผ่าน 3 มาตรการ โดยเริ่มจาก ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร สร้างระบบอาหารปลอดภัย กระจายอาหารที่เป็นธรรม และ สนับสนุนการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการหลากหลาย เป็นเรื่องสำคัญนำสู่การลดบริโภคหวาน มัน เค็ม ลดเสี่ยงโรค NCDs (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) และ สร้างสุขภาวะดีได้ ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

                    ขานรับจาก น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า “เวทีบูรณาการและนวัตกรรมสังคมด้านอาหาร ประจำปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารประเด็นความรู้เกี่ยวกับอาหารสมดุลตามหลักโภชนาการ พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างภาคี พร้อมเชื่อมโยงบูรณาการงานอาหารสมดุลผ่านประเด็น ที่หลากหลาย จะทำทุกคนได้เห็นโครงสร้างของระบบอาหารสมดุลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

                    “โดยเฉพาะการสร้างต้นแบบอาหารในโรงเรียน-ชุมชน, การขับเคลื่อนตลาดเขียวสร้างเศรษฐกิจอาหารชุมชน สร้างความเข้าใจในประเด็นโภชนาการผ่านการสื่อสารสังคม เช่น หวานน้อยสั่งได้ ลดเค็มลดโรค พร้อมสร้างนวัตกรรมความรู้และเครื่องมือ อาทิ สูตรจัดจานอาหาร 2:1:1 และเครื่องวัดความเค็ม ช่วยได้” น.ส.นิรมล กล่าว

                    สอดรับกับการถอดบทเรียนความสำเร็จการสร้างอาหารสมดุล โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า “ความสูญเสียของคนไทย 74% มาจากโรค NCDs มีเหตุปัจจัยสำคัญที่สุด คือการบริโภคอาหารไม่เพียงมีความแปรผันตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีบทบาททางอารมณ์ในสังคมอีกด้วย

                    “หากมีการเพิ่มสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพบนบรรจุภัณฑ์อาหารให้สังเกตได้โดยง่าย เพื่อให้องค์ความรู้ด้านการกินตามหลักโภชนาการเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย การสนับสนุนให้เลือกกินผักตามฤดูกาลที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงสารเคมีเพื่อขานรับกับกระแสการเลือกกินเพื่อสุขภาพ เริ่มต้นจากการใส่ใจในคำเล็ก ๆ ทุกคำ ก็น่าจะช่วยตอบโจทย์การสร้างสุขภาพดีแบบองค์รวม ทั้งกายและใจ ช่วยลดอัตราการเกิดโรค NCDs อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย และลดค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณะสุขลงได้  ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวเสริม

                    สสส.สนับสนุนให้คนไทยทุกคนสร้างสุขภาพที่ดี ลดเสี่ยงโรค เริ่มต้นด้วยการเลือกกินอาหารอย่างสมดุลตามหลักโภชนาการ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์กรสหประชาชาติ การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health And Well-Being)

 

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : งานประชุมเวทีบูรณาการและนวัตกรรมสังคมด้านอาหาร ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “บูรณาการเครือข่ายอาหาร สู่การบริโภคที่สมดุล ด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน”

Categories: ข่าวสารกิจกรรม