อยู่ดี ตายดี ออกแบบชีวิตอย่าง “เบาใจ” จากไปแบบ “ใจเบา”

อยู่ดี ตายดี ออกแบบชีวิตอย่าง “เบาใจ” จากไปแบบ “ใจเบา”

 ในภาพยนตร์หรือในละคร เรามักเห็นตัวละครที่จากไปในอ้อมกอดของคนที่รัก แต่ในชีวิตจริง ระยะเวลาก่อนการจากไปนั้นอาจยาวนาน หลายคนต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเดือนหรือแม้กระทั่งเป็นปี ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดที่ยื้อยุดการมีชีวิต

ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ความสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ของชีวิตไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยภายนอก แต่อยู่ที่จิตใจที่สงบและรับรู้ขณะจากไป การเตรียมตัวก่อนตายจึงเป็นเรื่องที่เราควรทำความคุ้นเคย ความคิดที่ว่า อย่าพูดเรื่องตายเพราะไม่เป็นมงคล” ควรค่อย ๆ เลือนหายไป หากเราเริ่มตระหนักว่าในที่สุด เราทุกคนจะต้องเดินทางสู่การจากไป เราจะพบว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ความสงบในจิตใจของเราเอง

                    พระพุทธองค์สอนว่า : “เกิด เป็นเรื่องใหญ่ ดับ เป็นเรื่องธรรมดา” สะท้อนให้เห็นการยอมรับความเป็นธรรมดาของการเกิดและการตายจะช่วยให้เรามีจิตใจที่สงบและพร้อมที่จะเผชิญกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต

                    หยิบยกประโยคที่สะท้อนถึงการยอมรับและความเข้าใจในความรักและการจากลาคำคมจากวรรณคดี เรื่อง “กามนิต-วาสิฎฐี” คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป แต่ง  เสฐียรโกเศศ นาคะประทีป แปล  ที่ว่า : “เมื่อรักจะต้องพรากจากกันนั้นเป็นของธรรมดา” ซึ่งแสดงถึงความเป็นปกติของการจากลาในชีวิต แต่ความรักที่แท้จริงจะยังคงอยู่ แม้ว่าร่างกายจะต้องพรากจากกัน

                    ในเรื่อง “มัทนะพาธา” พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีคำคมที่กล่าวว่า : “ดอกไม้แม้สวยงามแต่สุดท้ายก็ต้องร่วงโรย” ซึ่งสื่อถึงการยอมรับความไม่เที่ยงของชีวิต แม้แต่สิ่งที่สวยงามก็ยังต้องเผชิญกับการล่วงโรย ในความไม่เที่ยงนี้จะช่วยให้เรามีมุมมองที่สงบและพร้อมที่จะเผชิญกับการจากลาอย่างเข้าใจและปล่อยวาง

                    คำคมจากวรรณคดีต่างประเทศ วิลเลี่ยม เชกสเปียร์ ได้กล่าวไว้ว่า : “Cowards die many times before their deaths; the valiant never taste of death but once.” ซึ่งให้ข้อคิดว่า ผู้ที่มีจิตใจที่กล้าหาญและยอมรับความจริง จะเผชิญกับความตายเพียงครั้งเดียว ในขณะที่ผู้ที่กลัวจะต้องเผชิญกับความตายหลายครั้งในใจของพวกเขาเอง

                    เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันมีผู้สูงอายุมากถึง 14 ล้านคน และจำนวนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยติดเตียงมีเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 2 แสนคนต่อปี การตายดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และควรมีการเตรียมตัวเพื่อให้ทุกคนสามารถจากไปได้อย่างสมศักดิ์ศรี

                    การตายอย่างมีศักดิ์ศรี คือ การได้อยู่ในบ้านที่คุ้นเคย อยู่บนเตียงที่เคยนอน และในอ้อมกอดของคนที่เรารักและรักเรา อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้การตายดีในบ้านเกิดเป็นเรื่องท้าทาย เพราะบางครอบครัวไม่มีผู้ดูแล หรือไม่มีญาติสนิทที่จะมาดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิต

                    เพื่อเตรียมตัวและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการอยู่ดีและตายดี สสส. ร่วมกับกลุ่ม Peaceful Death ได้เริ่มโครงการ เมืองกรุณา” เพื่อส่งเสริมการอยู่และตายดี โครงการนี้มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยให้บุคลากรทางการแพทย์ ครอบครัว อาสาสมัคร และชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยอย่างเข้าใจและเคารพในความเป็นมนุษย์

                    น.ส.วรรณา จารุสมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการเมืองกรุณา กล่าวว่า การตายดีไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า การยื้อชีวิตอาจนำไปสู่ความทุกข์ทรมานทั้งสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว ความเข้าใจผิดหรือความไม่พร้อมในการยอมรับสถานการณ์อาจทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยทรมานโดยไม่จำเป็น

                    หลายคนอยากตายที่บ้าน แต่บ้านไม่ใช่สถานที่ที่พร้อมสำหรับการจากไปอย่างสงบเสมอไป การอยู่ดีตายดีจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมต้องร่วมมือช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันกันในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนสามารถจากไปได้อย่างมีคุณภาพ

                    ดังนั้น การวางแผนชีวิตและการเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นเรื่องสำคัญ เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการวางแผน คือ สมุดเบาใจ” ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการสำรวจและทบทวนชีวิตของเราเอง อยากเห็นฉากสุดท้ายของชีวิตล่วงหน้าเราเป็นอย่างไร ต้องการให้ชีวิตจบลงเช่นไร และช่วยลดความขัดแย้งในครอบครัวเมื่อความคิดเห็นในการช่วยเหลือแตกต่างกัน

                    นอกจากสมุดเบาใจแล้ว การอยู่ดีและตายดี ไม่ใช่เพียงเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อพัฒนาระบบชีวาภิบาลที่ช่วยให้ทุกคนมีความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วย

                    หากผู้ที่ทำงานในทุกระดับมีจิตใจเมตตาและใช้ปัญญาเข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยทุกข์น้อยลงและมีความสุขมากขึ้น จะเป็นการสร้างสังคมไทยมีสุขภาวะทางปัญญาที่ยั่งยืนและสร้างสังคมที่มีกรุณา เพื่อมีคุณภาพชีวิตในช่วงท้ายที่ดี มีความมั่นใจที่จะดูแลความเจ็บป่วยและการสูญเสียได้ด้วยตนเอง

                    สสส.ขอเชิญชวน ผู้สนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลชีวาภิบาล  ติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Peaceful Death เพราะเราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ทุกคนอยู่ดีและตายดีได้ ภาพความสุขในช่วงท้ายของชีวิตผู้ป่วยไม่ใช่เพียงของขวัญสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพที่ประทับใจแห่งชีวิตที่มอบให้แก่ครอบครัว และชีวิตการทำงานของบุคลากรสุขภาพและคนในสังคมด้วย

เรื่องโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก Let’s move ชีวาภิบาล ความร่วมมือขับเคลื่อนระบบชีวภิบาลอย่างมีส่วนร่วม

Categories: ข่าวสารกิจกรรม