ลดอคติทางเพศ ลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติเพื่อทำให้ทุกคนมีสุขภาวะ

ลดอคติทางเพศ ลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติเพื่อทำให้ทุกคนมีสุขภาวะ

สุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 4

                 การจัดการประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 4 นี้ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของภาคส่วนต่าง ๆ ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาสุขภาวะทางเพศในวัยรุ่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในสังคมไทยและทั่วโลก

                 การประชุมครั้งนี้ ภายใต้ แนวคิด “Strong Community for Healthy Sexuality : ชุมชนเข้มแข็งสร้างสุขภาวะทางเพศ” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น  กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิแพธทูเฮลท์ และภาคีเครือข่าย มากันพร้อมเพรียง

                 โดยทุกหน่วยมุ่งมั่นถึงการสร้างความเข้าใจและการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ การป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และการเพิ่มคุณภาพของการมีลูกในยุคประชากรมีแนวโน้มลดลง ซึ่งไม่เพียงรับรู้และนโยบายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนเพื่อร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนอีกด้วย

                 หยิบยกจากสถานการณ์ที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่รุนแรงช่วงปี 2550 – 2560 โดยอัตราการคลอดของวัยรุ่นเคยสูงสุดในปี พ.ศ. 2554 – 2555 อยู่ที่ 53.4 ต่อหญิงอายุ 15 – 19 ปีต่อ 1,000 คน และเพื่อกระตุ้นการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย ลดอัตราการคลอดภายในปี 2570 เหลือ 15  : 1,000 คน

                 จึงได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้นำชุมชนมาหารือและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวิธีการที่จะลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการสนับสนุนสุขภาวะทางเพศที่ดีกว่า ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ ฯ จ.นนทบุรี เมื่อ วันที่ 14 สิงหาคม 2567

                 นอกจากนี้ การประชุมไม่เพียงเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษาที่เพียงพอสำหรับวัยรุ่น เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนของการสร้างสุขภาวะทางเพศในระดับชาติ การสร้างความเข้มแข็งในชุมชน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สนับสนุนสุขภาพทางเพศที่ดี ที่ช่วยให้ทุกคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและมีคุณภาพ

                 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานเปิด กล่าวถึงปัญหาสุขภาวะทางเพศที่มีหลากหลายมิติและเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกวัย น่าเป็นห่วง คือ  โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

                 สอดคล้องกับพฤติกรรมไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อ HIV ซึ่งในปี 65 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 9 พันคน และเกือบครึ่งหนึ่งเป็นเยาวชน การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาวะทางเพศและลดอัตราการคลอดในวัยรุ่น  พร้อมส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพในยุคที่เด็กเกิดน้อยทุกคนจะได้เติบโต ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

                 ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2548 สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางเพศ เดินหน้าทำงานสร้างทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศ เพื่อลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเน้นให้วัยรุ่นมีทักษะองค์ความรู้ในการป้องกันโรคมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เข้าถึงความรู้ทางเลือกคุมกำเนิด และการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย

                 อีกทั้งยังผลักดันพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 รวมถึงสนับสนุนสายด่วน 1663 ให้คำปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมให้อยู่ภายใต้สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ

                 นอกจากนี้ ยังเน้นความสำคัญของทัศนคติที่ไม่ตีตราผู้ที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษาที่เป็นมิตรในชุมชน ช่วยให้พวกเขาสามารถตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูล เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิดอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่เพียงพอ

                 หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าการตีตราผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม วิพากษ์วิจารณ์ แสดงท่าทีดูถูกหรือตัดสินพวกเขาในทางลบส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำอย่างมาก เกิดปัญหาทางสุขภาพจิต กระทบต่อการดำเนินชีวิต บางคนเสียโอกาสในการเรียนต่อ ต้องหยุดความฝันของตัวเอง

                 “อย่างไรก็ตาม การสร้างทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศให้เปิดกว้างในสังคม จะทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น สนับสนุน และช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหานี้อย่างเป็นมิตร เพื่อให้พวกเขาได้รับการดูแลและคำปรึกษาที่เหมาะสมจากสังคมและชุมชน นำไปสู่การลดปัญหาต่าง ๆ ได้” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

                 ด้าน นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ประธานคณะอนุกรรมการด้านวิชาการการจัดประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 4 กล่าวว่า การจัดการประชุม ครั้งที่ 4 เน้นสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อถอดบทเรียนและพัฒนาแนวนโยบายด้านสุขภาวะทางเพศในระดับประเทศ โดยมีข้อเสนอสำคัญ 3 ด้าน คือ

                 การส่งเสริมให้เยาวชนเกิดองค์ความรู้และมีทักษะด้านเพศวิถี   การจัดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่เข้าถึงง่ายและเป็นมิตรกับวัยรุ่น และ การจัดสวัสดิการที่จำเป็นและสอดคล้องกับวิถีชีวิตคุณแม่วัยใส เช่น มีฝากเลี้ยง-ดูแลบุตร และการยกเลิกข้อจำกัดในการรับบุตรบุญธรรมสำหรับครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ

                 “การประชุมครั้งนี้ สสส.ไม่เพียงแค่เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ยังหวังให้เป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนของการสร้างสุขภาวะทางเพศในระดับชาติ ที่สร้างความเข้มแข็งในชุมชน และทุกภาคส่วนการมีส่วนร่วมสนับสนุนช่วยให้ทุกคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดี มีคุณภาพ” นพ.กิตติพงศ์ กล่าวเสริม

                 …สสส.ขอเดินหน้าสนับสนุนการสร้างทัศนคติเชิงบวกที่ดีต่อทุกมิติสุขภาวะทางเพศ โดยลดอคติทางเพศ ลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติเพื่อทำให้ทุกคนมีสุขภาวะ ถือเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาและการสร้างสุขภาวะยั่งยืนของประเทศ…

เรื่องโดย : อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก งานการประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 4

Categories: ข่าวสารกิจกรรม