การนำกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพมาใช้ในการประเมินผลโครงการติดตามประเมินผลลัพธ์ทางสุขภาพ ของโครงการสร้างสุข ลดทุกข์ กลุ่มแรงงานนอกระบบในครั้งนี้ ได้เลือกรูปแบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพแบบเร่งด่วน หรือ Rapid HIA จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีความเหมาะสม
โดย Rapid HIA เป็นการประเมินผลกระทบที่ใช้ระยะเวลาสั้น เน้นการทบทวนข้อมูลเอกสาร ข้อมูลทุติยภูมิ หลักฐานที่มีอยู่แล้ว ร่วมกับข้อมูลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Design for Health, 2008) ในการระบุหรือประเมินผลกระทบทางสุขภาพ
ข้อดีของ Rapid HIA คือใช้ระยะเวลาและทรัพยากรในการดำเนินการน้อย และทำให้ได้ข้อมูลหลักฐานเพื่อเสนอทางเลือก ข้อเสนอแนะ หรือมาตรการรองรับเพื่อการเพิ่มผลกระทบทางบวก และลดผลกระทบทางลบ ช่วยให้การดำเนินงานของโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผลการประเมินดังกล่าวได้นำเสนอต่อผู้นำแรงงาน ผู้ประสานงานโครงการ ทีมนักวิชาการและภาคีการทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนร่างรายงานผลการศึกษา การจัดกิจกรรมต่างๆดังกล่าวได้ดำเนินการไปพร้อมๆกับกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแต่ละพื้นที่ภายใต้แผนงานของโครงการหลัก
และได้จัดให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้ร่วมกันให้ข้อเสนอในการเพิ่มประสิทธิผลของการดำเนินงานและให้ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาการดำเนินงานโครงการสร้างสุข ลดทุกข์ให้มีประสิทธิภาพต่อไป ซึ่งผลจากการร่วมกันทบทวนร่างรายงานผลการศึกษาเบื้องต้น ได้ข้อสรุปดังนี้
1. ผลการพัฒนาศักยภาพของแรงงานภายใต้โครงการสร้างสุข-ลดทุกข์ฯ พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนศักยภาพเพิ่มขึ้นทั้งรายด้านและโดยรวม อย่างไรก็ตาม มีเพียงศักยภาพเฉพาะ คือ ด้านศักยภาพการจัดกระบวนการดำเนินงานเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
2. ผลการประเมินความสุขของผู้นำที่เข้าร่วมโครงการสร้างสุข-ลดทุกข์ฯ พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนความสุขโดยรวมและรายด้านเกือบทุกด้านลดลง แม้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าผู้นำแรงงานส่วนใหญ่มีความสุขลดลง ทั้งนี้ อาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ไม่เพียงการเพิ่มขึ้นของศักยภาพในการจัดการสร้างสุข ลดทุกข์ภายใต้การดำเนินงานของโครงการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ได้พบว่า ผู้นำแรงงานที่เข้าร่วมโครงการโครงการสร้างสุข-ลดทุกข์ฯ มีความสุขในด้านการเป็นผู้นำสูงขึ้น แม้จะไม่มีนัยสำคัญทางสถิติก็ตาม
ท่านใดสนใจเอกสารฉบับนี้ สามารถกดลิงค์ข้อมูลด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ