โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำฯ

โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำและกลไกการนำนโยบายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ

กลุ่มแรงงานนอกระบบสู่การปฏิบัติระดับจังหวัด

หลักการ เหตุผล

        การดูแลคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 – 2559 แต่ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนยุทธศาสตร์ฯพบว่าในจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.3 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 21.4 ล้านคน หรือร้อยละ 55.9โดยส่วนใหญ่ มีการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า ร้อยละ 62.5มีปัญหาเรื่องค่าตอบแทน ร้อยละ 51.5และมีปัญหาจากการบาดเจ็บและอุบัติเหตุจากการทำงานของแรงงานนอกระบบ มีจำนวน 3.5 ล้านคน หรือร้อยละ 16.5  

        สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนการดำเนินงานการสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานนอกระบบโดยผ่านแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน โดยยึดหลักการมีส่วนร่วม และหลักการออตาวาห์ชาร์เตอร์ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานโยบาย การพัฒนาวิชาการและองค์ความรู้ และการพัฒนาศักยภาพและเสริมความเข้มแข็งของกลไกภาคประชาชน ควบคู่กับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ในภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคบริการ

         ผลงานที่สำคัญที่สามารถนำมาเป็นต้นทุนในการส่งต่อและขยายผลการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะและการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบประกอบด้วย

  1. กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาวะและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ จำนวน 6 นโยบาย
  2. มีข้อมูลและองค์ความรู้ที่สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ และพัฒนาให้เป็นองค์ความรู้หรือนวัตกรรมเพื่อการขยายและพัฒนานโยบายใน 4 หมวดหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มสิทธิแรงงาน 2) กลุ่มสุขภาพ ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน 3) กลุ่มการพัฒนา/สร้างหลักประกันทางสังคม และ
    4) กลุ่มพัฒนาผู้นำเพื่อมีศักยภาพพื้นฐานและความรู้ทักษะเฉพาะเพื่อการบริหารจัดการและการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบ รวมถึงวางแผน/การประสาน
  3. ได้กรอบคิดและชุดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้นำแรงงานนอกระบบที่จะนำมาใช้ในกระบวนการดำเนินงานโครงการฯ ร่วมกัน ตามแผนภูมิภาพด้านล่าง

 

        พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553, ประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ มาตรา 40 ภายใต้ พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2558, พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554, แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 – 2559, การส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ….

         กระบวนการพัฒนาจะเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวตนของผู้นำ ขยายไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร สังคม จนถึงระดับโครงสร้างอำนาจ โดยผ่านการรับรู้และยอมรับตัวตน ว่าเป็น “แรงงานนอกระบบ”  และมีศักยภาพในการเป็นผู้นำที่สามารถนำขบวนการทางความคิด ของกลุ่ม ชุมชนและพลังทางสังคม จนไปสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับตนเองจนถึงโครงสร้างอำนาจ ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคม

  1. มีผู้นำที่มีศักยภาพจำนวน 424 คน จากพื้นที่ดำเนินโครงการ 23 จังหวัดโดยมีผู้นำการเปลี่ยนแปลง
    52 คน คิดเป็นร้อยละ 12.3 ในจำนวนดังกล่าวมีผู้นำ 26 คน เข้าร่วมและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงาน
    เชิงบูรณาการในทุกเนื้องานหลักที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ทั้งในระดับพื้นที่ จังหวัด และการขับเคลื่อนนโยบายผู้นำดังกล่าวยังมีบทบาทต่อเนื่องในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐในระดับจังหวัดและระดับกระทรวง และผู้นำที่มีภาวะการนำจำนวน 115 คน คิดเป็นร้อยละ 27.1 มีบทบาทขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่และเป็นกลไกสนับสนุนหรือทีมทำงานขับเคลื่อนในระดับจังหวัด/ตำบล  
  2. ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบจังหวัดมีจำนวน 16 ศูนย์ เป็นกลไกสำคัญในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด และการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯสู่การปฏิบัติ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการกระจายตัวของแรงงานนอกระบบ และความหลากหลายของบริบทพื้นที่ อาชีพ ทำให้ศูนย์ประสานงานฯไม่สามารถขยายฐานการขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง จึงได้มีการพัฒนา“หน่วยบริการชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน”เป็นกลไกหนึ่งที่เหมาะสมในการเป็นเครือข่ายทำงานระดับตำบล เพื่อลดเงื่อนไข และเพิ่มการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร สิทธิบริการและทรัพยากรของแรงงานนอกระบบสามารถแสดงความสัมพันธ์และบทบาทหน้าที่ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบจังหวัดและหน่วยบริการชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน

 

เป้าหมาย     พัฒนาศักยภาพผู้นำให้มีความรู้และทักษะในการนำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะแรงงานนอกระบบสู่การปฏิบัติ

 

วัตถุประสงค์

  1. พัฒนาศักยภาพผู้นำให้มีความรู้และทักษะในการนำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะแรงงาน
    นอกระบบสู่การปฏิบัติ
  2. พัฒนาศักยภาพศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบจังหวัดและหน่วยบริการชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานให้เป็นกลไกดำเนินงานเพื่อการเข้าถึงสิทธิและบริการของแรงงานนอกระบบ
  3. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาศักยภาพผู้นำและกลไกภาคประชาชนเพื่อให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงสิทธิและบริการ
  4. สนับสนุนกระบวนการรณรงค์และสื่อสารเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับแรงงานนอกระบบในระดับกลุ่ม/เครือข่าย

 

กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่เป้าหมายการดำเนินงานโครงการ

  1. ผู้นำที่ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพจำนวน 360 คน
  2. พื้นที่เป้าหมายโครงการ จำนวน 16 จังหวัดได้แก่
พื้นที่ รายชื่อจังหวัด
1. ภาคเหนือตอนบน   1. เชียงใหม่  2. เชียงราย 3. พะเยา      4. น่าน  5. ลำพูน
2. ภาคเหนือตอนล่าง   1.เพชรบูรณ์  2. อุตรดิตถ์
3. ภาคกลาง 1.ราชบุรี  2. นครปฐม 3. สมุทรปราการ
4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.ขอนแก่น  2. อุดรธานี 
5. ภาคใต้ 1. สงขลา  2. ตรัง 3. สุราษฎร์ธานี
6. กรุงเทพฯ เขตพื้นที่ดำเนินงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในพื้นที่เขต 2,9 และ 10