โครงการจัดการความรู้เพื่อการขยายผลกระบวนการเชิงนโยบาย
การสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานนอกระบบ
หลักการ เหตุผล
การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยมีพัฒนาการการดำเนินงานโดยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งด้านวิชาการ การขับเคลื่อนสังคม และหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทและนโยบายสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานนอกระบบ
จากการวิเคราะห์บทเรียนเรื่องการจัดการข้อมูลวิชาการเพื่อสนับสนุนการทำงานและการขยายผล พบว่า การจัดการความรู้ที่มาจากฐานปฏิบัติการเพื่อขยายผลให้ครอบคลุมรวมถึงการนำไปใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีบริบทที่หลากหลายทั้งประเภทอาชีพ รูปแบบการจ้างงาน และบริบทพื้นที่ มีข้อสรุป ดังนี้
1) ความรู้การสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานนอกระบบที่เกิดขึ้นทั้งในรูปแบบของเชิงประเด็นเชิงพื้นที่ หรือเชิงองค์กร จะกระจายอยู่ในระดับพื้นที่ที่ยังไม่สามารถนำมาขยายผลเพื่อก่อให้เกิดผลกระทบ (Impacts) กับกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่มีโอกาสได้เรียนรู้หรือพัฒนาเพื่อการมีสุขภาวะที่จะนำไปสู่การคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง
2) การนำความรู้ไปขยับหรือปรับประยุกต์ใช้กับนโยบายของภาครัฐและท้องถิ่นที่มีอยู่ (Platform) ยังต้องการกระบวนการปรับและประยุกต์แนวปฏิบัติ (Modify) ใหม่ สอดคล้องกับบริบท เพื่อการเข้าถึงสิทธิและบริการ ของกลุ่มเป้าหมายมีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมสุขภาพ (Health Outcome) ที่จะก่อให้เกิดการมีสุขภาวะที่ดีทั้งในปัจจุบันและเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยการมีพื้นฐานที่ดีทั้งสุขภาพทางกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ
3) ระดับการพัฒนาความรู้จากฐานปฏิบัติการและจากการสรุปประมวลผลภาพรวมของแผนงานฯ ณ ปัจจุบันยังมีความแตกต่างหลายระดับที่ต้องได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ในการขยายผลและพัฒนานโยบายที่นำไปสู่การสนับสนุนการปฏิบัติการระดับพื้นที่ ดังนี้
ระดับ 1 : มีชุดความรู้/หลักสูตรและมีการทดลองนำไปใช้ปรับปรุง และจัดทำเป็นคู่มือการดำเนินงานและต้องการปรับปรุง (Modify) เพิ่มเติมให้เข้ากับแนวนโยบายของหน่วยงาน/องค์กรที่เป็นกลไกการนำสู่การปฏิบัติ หรือ Platform เพื่อนำชุดความรู้ไปขยายผลหรือเสริมกระบวนการทำงานหรือขับเคลื่อนผลักดันเข้าสู่นโยบาย
ระดับ 2 : ชุดความรู้ที่มีการนำไปใช้หรือมีการทดลองกับกลุ่มเป้าหมาย แต่ยังไม่ได้มีการสังเคราะห์บทเรียน/ชุดความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาให้เป็นชุดความรู้ (Learning Package) สำหรับการนำไป
Try out รวมถึงการประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผลว่าตอบโจทย์และสอดคล้องกับหลักคิดทำตั้งสมมุติฐานหรือคาดหวังไว้ เพื่อการปรับปรุงและนำไปขยายผลหรือพัฒนากระบวนการนโยบายต่อไป
ระดับ 3 : เป็นรายงานผลการดำเนินงานโครงการ รายงานถอดบทเรียน กรณีตัวอย่างที่นำเสนอแลกเปลี่ยนเพื่อเอาไปประยุกต์ใช้ตามสถานการณ์ แต่ยังไม่มีการถอดบทเรียนเชิงระบบเพื่อนำไปทดลองนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายหรือพื้นที่/กลุ่มเป้าหมายทั้งในบริบทเดิมและบริบทที่แตกต่างกันเพื่อให้เป็น
ชุดความรู้หรือนวตกรรมที่พร้อมขยายผลอย่าง เรื่องหน่วยบริการชุมชนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน
เป็นต้น
ระดับ 4 : เป็นผลการศึกษาหรือการถอดบทเรียนและมีข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานในระดับต่างๆ แต่ไม่รู้ว่าจะมีใครเอาไปใช้ในการทำงานต่อเนื่องหรือขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่ออย่างไร เพราะต้องมีกระบวนการที่จะต้องทำต่อเนื่องจากข้อเสนอดังกล่าว เช่น ผลการศึกษาเรื่ององค์กรแรงงานนอกระบบ ทั้งในระดับหน่วยงานและในส่วนของภาคประชาชน ที่จะต้องมีกระบวนการต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้เกิดระบบและโครงสร้างภายในกระทรวง ทั้งเรื่องบุคลากร งบประมาณ และการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560 – 2565) สู่การปฏิบัติในระดับจังหวัดโดยใช้ประสบการณ์และบทเรียนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555 – 2559) มาพัฒนาและยกระดับการดำเนินงาน เป็นต้น
4) ข้อมูล บทเรียน ชุดความรู้ มีอยู่ดังกล่าว ยังมีข้อจำกัดหลายประการเพื่อการขยายผลและการพัฒนานโยบายสนับสนุนการทำงานในระดับปฏิบัติการดังนี้
- ยังไม่มีกลไกการจัดการเชิงระบบโดยเฉพาะเพื่อการพัฒนาหรือยกระดับจากต้นทุนที่มีอยู่ให้เป็นชุดความรู้หรือนวตกรรมเพื่อนำมาใช้ในขยายผลในระดับพื้นที่/กลุ่ม/ชุมชน เพื่อให้เกิดความครอบคลุมแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น
- การออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการขยายผลและการพัฒนานโยบายยังมีข้อจำกัดทั้งในเชิงกลไกและรูปแบบที่เหมาะสมที่จะให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการนำสู่การปฏิบัติจริงและการพัฒนาแนวนโยบายที่มีความต่อเนื่องจนบรรลุตามเป้าหมายที่คาดหวังร่วมกัน
- ยังขาดการวิเคราะห์กลยุทธในการนำเอาชุดความรู้หรือนวตกรรมไปเชื่อมโยงหรือขยายผลกับ Platform ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อนำสู่การขยายผลต่อเนื่องและยั่งยืน
- ผู้ปฏิบัติงาน กลุ่มหมาย พื้นที่หรือชุมชน ยังไม่เห็นการเชื่อมโยงข้อมูล บทเรียนหรือ ชุดความรู้ทั้งในระดับภาพรวมและการเชื่อมโยงกับหน่วยงาน เครือข่าย หรือองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่ง ส่งผลต่อการใช้ประโยชน์จากรูปธรรมการดำเนินงานที่เกิดขึ้นยังจำกัดอยู่ในพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมายที่จำกัด
- ยังมีข้อจำกัดเรื่องการพัฒนากลไก ระบบและช่องทางในการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self learning) และการสร้างแรงจูงใจเรื่องการนำเอาชุดความรู้หรือนวตกรรมไปขยายผลกับพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมายของตนเอง
5) จากการศึกษาและเรียนรู้จากกระบวนการทำงานของแผนงานและภาคีเครือข่ายอื่นๆร่วมด้วยพบว่า ปัจจัยความสำเร็จในการนำเอาชุดความรู้หรือนวตกรรมไปขยายผลหรือพัฒนานโยบาย มีดังนี้
- มีความรู้และชุดการเรียนรู้ที่พร้อมที่จะนำไปขยายผลหรือปรับ/ประยุกต์ใช้ได้ด้วยตนเอง
ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ กรอบคิด หลักการในเรื่องดังกล่าว คู่มือการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ประกอบด้วย วิธีการจัดการเรียนรู้และการขยายผล ชุดความรู้ในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องนั้นที่ถูกต้อง สื่อและอุปกรณ์สำหรับการสร้างการเรียนรู้ พื้นที่หรือกลุ่มหรือบุคคลต้นแบบเพื่อเป็นแหล่งหรือกลไกการสร้างการเรียนรู้และเป็น Evidence based สนับสนุนชุดความรู้หรือนวตกรรมดังกล่าว - มีเวทีหรือโอกาส และกลไกสำหรับการจัดกระบวนการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับ ผู้มีประสบการณ์และผู้สนใจหรือ Platform ต่างๆ ในการนำเอาองค์ความรู้ไปขยายผล ที่เน้นกระบวนการการยกระดับการพัฒนาวิธีคิดและกลยุทธการทำงาน มีตัวอย่างความสำเร็จประกอบให้มีความหลากหลาย และเนื้อหาวิชาการที่เป็นเชิงหลักการและสอดคล้องกับแนวนโยบายและบทบาทของหน่วยงาน หรือ Platform ดังกล่าวเพื่อให้เห็นแนวทางในนำไปขยายผลทั้งในระดับปฏิบัติการและเชิงนโยบายได้อย่างชัดเจนและนำไปปฏิบัติง่าย ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและขยายผลได้มากขึ้น
- มีกลไกที่จะสร้างความร่วมมือกับระดับนโยบาย เพื่อสนับสนุนให้การนำชุดความรู้หรือ นวตกรรมสู่การขยายผลในระดับปฏิบัติการกับพื้นที่/ชุมชนหรือกลุ่มแรงงานนอกระบบอื่นๆ หรือ Platform ระดับต่างๆ เกิดผลเชิงรูปธรรม ต่อเนื่องและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มแรงงานนอกระบบ
- มีกลไกการติดตามประเมินผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงหรือการนำไปประยุกต์ใช้ และมีการเสริมศักยภาพกระบวนการหรือองค์กร/กลไกหรือ Platform ระหว่างการขยายผลหรือประยุกต์ใช้จะส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จและความต่อเนื่องและยั่งยืน และสามารถพัฒนาให้เป็นกลไกการขยายผลต่อเนื่องที่มีการขยายพื้นที่/กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น หรือเป็นฐานการเรียนรู้เชิงรูปธรรมในกลุ่ม/เครือข่ายหรือ โซนพื้นที่นั้นๆ ตามหลักการ INN (Individual Node Network)
6) การนำชุดความรู้ไปใช้ในกระบวนการพัฒนานโยบายที่ผ่านมา จะทำเฉพาะกิจเพื่อให้เกิดการยอมรับและเห็นคุณค่าทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติด้วยทีมเจ้าหน้าที่ของแผนงานฯ และ/หรือโครงการประสานและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ทั้งในระดับกระทรวง/กรม เพื่อพิจารณารับหลักการและนำไปใช้ในการขยายผลต่อในรูปแบบของการทดลองและประยุกต์ใช้ในระดับปฏิบัติการ รวมถึงการนำไปปรับระเบียบและแนวทางของกระทรวง/หน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาและความต้องการของแรงงานนอกระบบ ซึ่งได้แก่ เรื่องอาชีวอนามัย ประกันสังคม ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ หน่วยบริการชุมชน และการพัฒนาผู้นำเพื่อพัฒนากระบวนการเปลี่ยนแปลง จากการวิเคราะห์ชุดความรู้ที่มีอยู่ปัจจุบันของแผนงาน พบว่า มีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ (1) การพัฒนาให้เป็นเอกสารและสื่อสำหรับเป็นชุดความรู้ที่พร้อมใช้ศักยภาพกลไกที่เป็น Change agent และจำนวน (2) ยังไม่ได้มีกระบวนการพัฒนาศักยภาพในการนำเสนอและถ่ายทอดบทเรียนความรู้ ประสบการณ์ของตนเองที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา เพื่อขยายผลและขับเคลื่อนต่อเนื่องทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย (3) ชุดความรู้ที่มีอยู่มีหลายสถานภาพและหลายระดับ ที่ยังไม่มีคุณภาพพอที่จะนำไป ขยายผลโดยผ่านกลไก โครงสร้าง/ระบบ และช่องทางต่างๆ ที่กล่าวมาเบื้องต้นได้ด้วยลำพังหรือทันที และ (4) ยังไม่ได้จัดการและพัฒนาให้เป็นชุดความรู้หรือนวตกรรม ที่พร้อมจะนำไปใช้เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดด้วยกลไกที่มีอยู่และ/หรือด้วยตนเองได้
การนำนโยบายสู่การปฏิบัติเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานนอกระบบที่จะนำไปสู่ความครอบคลุมเชิงพื้นที่ กลุ่มเป้าหมาย และรวมถึงบริบททั้งเชิงอาชีพ ความเป็นเมือง/ชนบท และระดับศักยภาพหรือโอกาส ในทั้ง 5 นโยบายเพื่อการสร้างเสริมดังกล่าวเบื้องต้นในระยะต่อไปการจัดการข้อมูล ความรู้ และงานวิชาการที่มีอยู่ เพื่อการพัฒนาต่อเนื่องโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเพื่อการขยายผลทั้งเชิงนโยบายและระดับปฏิบัติ จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญและมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญเพื่อสนับสนุนภาคีเครือข่ายระดับปฏิบัติการได้มีกระบวนการต่อเนื่องทั้งในด้านการวิเคราะห์ประสบการณ์ บทเรียนเพื่อยกระดับให้เป็นชุดความรู้เพื่อการขยายผลและขับเคลื่อนนโยบายต่อไป
เป้าหมาย แรงงานนอกระบบเข้าถึงสิทธิและบริการด้านหลักประกันทางสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงานและหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและทั่วถึงเพิ่มมากขึ้นทั้งในเชิงพื้นที่ และประเภทหรือกลุ่มอาชีพ โดยผ่านกลไกการจัดการความรู้ที่มีความเป็นสหวิทยาการที่ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคประชาสังคมและสถาบันวิชาการเพื่อการขยายผลและการพัฒนานโยบาย
วัตถุประสงค์
- พัฒนาชุดการเรียนรู้ (Learning Package) ซึ่งประกอบด้วยคู่มือ ชุดความรู้ สื่อ กลไกการ ขยายผลและศูนย์หรือแหล่งเรียนรู้ (Evidence base) เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายผลทั้งในระดับปฏิบัติการ
- พัฒนาศักยภาพกลไกขยายผล ซึ่งได้แก่ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง และทีมการจัดการเพื่อการนำ
ชุดความรู้การสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานนอกระบบ (Change agent & Distribution Node) ไปสู่การขยายผลในระดับปฏิบัติการและนโยบาย - กระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน การจัดการข้อมูล วิชาการและประสบการณ์/บทเรียนจากฐานความรู้ประสบการณ์และบทเรียนการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายในพื้นที่หรือจังหวัดของตนเอง เพื่อใช้การ ขยายผลหรือพัฒนานโยบายในระดับจังหวัดที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายระดับประเทศ
- พัฒนาและสนับสนุนกระบวนการการนำชุดความรู้ไปขยายผลให้กับหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักในระดับจังหวัด เพื่อการปรับปรุงกระบวนการทำงาน หรือลดเงื่อนไขการดำเนินงาน สร้างโอกาสเพื่อการเข้าถึงสิทธิและบริการที่มีประสิทธิภาพ
ภาคีเครือข่ายความร่วมมือ
- โครงการพัฒนาผู้นำและกลไกการนำนโยบายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานนอกระบบ สู่การปฏิบัติ ระดับจังหวัด
- ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบจังหวัด
- มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสำนักปลัด กระทรวงแรงงาน
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการความรู้เพื่อการขยายผลและพัฒนากระบวนการนโยบายระดับจังหวัด (ระดับพื้นที่ – จังหวัด/ตำบล)
- กระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย ศูนย์ประสานและสนับสนุนเครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางาน ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด และสำนักงานประกันสังคม
- กระทรวงสาธารณสุข : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
- สถาบันวิชาการในภูมิภาค ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม (RDSI) มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนานวตกรรม คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ