กฎหมายเพื่อการสมรสเท่าเทียม

กฎหมายเพื่อการสมรสเท่าเทียม

          สิทธิในการมีชีวิตครอบครัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเข้าเป็นภาคี และเรื่องความเสมอภาคของบุคคลและการห้ามเลือกปฏิบัติยังได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน… การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่อง… เพศ… หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้”

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว สามารถจดทะเบียนเป็นคู่สมรส และได้รับสิทธิและหน้าที่ที่พึงมีพึงได้ เนื่องจากการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 กำหนดให้ต้องเป็นการสมรสระหว่างชายและหญิงเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

          การที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายฉบับใดให้การรับรองสิทธิของคู่รักเพศเดียวกัน อาจทำให้มีผู้ที่มีความเห็นว่า แม้กฎหมายจะไม่ได้ปฏิเสธถึงความมีอยู่ของครอบครัวรูปแบบดังกล่าวในทางปฏิบัติ แต่ก็ไม่ได้มีความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและอำนวยความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งอาจถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศที่ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนและสภาพของข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสังคมปัจจุบัน

          สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของต่างประเทศนั้น ได้มีการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ เช่น
          1) ประเทศฝรั่งเศส ได้มีการออกรัฐบัญญัติที่ 2113-414 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 (ค.ศ. 2113) ว่าด้วยการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย
          2) ประเทศเยอรมนี โดยประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ลงนามในรัฐบัญญัติว่าด้วยการสมรสระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 (ค.ศ. 2117) มีผลเป็นการแก้ไขกฎหมาย จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่ง รัฐบัญญัติคู่ชีวิต รัฐบัญญัติว่าด้วยการแปลงเพศ รัฐบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งเพื่อรับรองสิทธิในการสมรสของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และ
          3) ไต้หวัน โดยคำพิพากษาของสภาตุลาการของไต้หวัน ในคำวินิจฉัย ที่ 748 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 (ค.ศ. 2117) ได้วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายว่าด้วยการสมรสที่บัญญัติห้ามบุคคล 2 คน ซึ่งมีเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสนั้นขัดต่อหลักเสรีภาพของบุคคลในการสมรส และขัดต่อหลักความเท่าเทียมกันของมนุษย์ อันเป็นหลักการที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไต้หวัน นอกจากนี้ สภาตุลาการยังมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวภายใน 2 ปี นับแต่วันที่มีการตีความคำวินิจฉัยกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลังจากนั้น จึงได้มีการออกรัฐบัญญัติว่าด้วยการบังคับใช้คำวินิจฉัยเลขที่ 748 ของสภาตุลาการ โดยมีลักษณะเป็นการออกรัฐบัญญัติแยกไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[1]

          สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มให้การรับรองสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านกฎหมาย คือ ได้มีการตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558[2] เพื่อเป็นกฎหมายหลักในการขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ จึงเห็นได้ว่ามีการบัญญัติอย่างชัดเจนแล้วว่าการเลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมไม่อาจกระทำได้ ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวยังสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสามดังกล่าวอีกด้วย และในปี พ.ศ. 2565 ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. ทั้งนี้ โดยร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร[3]

          ต่อมา คณะรัฐมนตรี ชุดที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 รวมทั้งได้มีผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการทำนองเดียวกันอีก จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กับคณะเป็นผู้เสนอ) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นางสาวอรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,611 คน) ร่วมกันเข้าชื่อเสนอตามมาตรา 133 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นายสรรเพชญ บุญญามณี กับคณะ เป็นผู้เสนอ) ซึ่งนำมาพิจารณาในวาระที่ 1 ด้วย
 

          โดยมีเหตุผลในการเสนอที่คล้ายคลึงกัน คือ เนื่องจากเห็นว่าสถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด และมีการอุปการะเลี้ยงดู รวมถึงมีความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ[4]

          ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ทั้ง 4 ฉบับ ที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณานี้ มีเหตุผลทำนองเดียวกันในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง อันเนื่องมาจากการก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีข้อจำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด มีการอุปการะเลี้ยงดู และมีความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้[5]

          1. กรณีการหมั้น กำหนดให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเป็นเพศใดสามารถหมั้นกันได้ตามกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติระหว่างบุคคล ซึ่งสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) มีประเด็นการแก้ไขเช่นเดียวกัน แต่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) นั้น มีการเพิ่มเติมเหตุเรียกค่าทดแทนในมาตรา 1445 ด้วย โดยนอกจากการเรียกค่าทดแทนผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นแล้ว ยังได้เพิ่มเติมกรณีการเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่ง “กระทำ” กับคู่หมั้นเพื่อสนองความใคร่ของผู้นั้น ซึ่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) ไม่ได้เพิ่มเติมในประเด็นของการกระทำเพื่อสนองความใคร่แต่อย่างใด ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นางสาวอรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,611 คน) ร่วมกันเข้าชื่อเสนอ ตามมาตรา 133 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่มีการแก้ไขในเรื่องการหมั้น

          2. กรณีการสมรส การสิ้นสุดการสมรส การจัดการทรัพย์สิน และมรดก กำหนดให้ใช้คำว่า “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามีและภริยา”เพื่อให้ครอบคลุมการก่อตั้งครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นางสาวอรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,611 คน) ร่วมกันเข้าชื่อเสนอ ตามมาตรา 133 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีการแก้ไขอายุของคู่สมรสจากเดิม 17 ปีบริบูรณ์ แก้ไขเป็น 18 ปีบริบูรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่กำหนดอายุ “เด็ก” ไว้หมายความถึงบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และยังคงอยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลตามกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน

          ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) ไม่ได้แก้ไขในประเด็นนี้แต่อย่างใด เนื่องจากมีการกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ที่ 17 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเป็นความเหมาะสมของสภาพร่างกายตามธรรมชาติ ประกอบกับแม้จะมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมอายุเป็น 18 ปีบริบูรณ์ แต่ยังคงถือว่าเป็นผู้เยาว์ที่จะกระทำการสมรสได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และการแก้ไขเกณฑ์อายุขั้นต่ำอาจส่งผลกระทบต่อบุคคลต่างเพศให้ต้องถูกขยายเวลาที่จะทำการสมรสได้ออกไปอีก 1 ปี อันเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิตามกฎหมายเดิม

          3. กรณีการจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส โดยคู่สมรสมีสิทธิจัดการทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น รวมถึงกรณีคู่สมรสเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรได้รับมรดก การแบ่งทรัพย์มรดกกรณีคู่สมรสผู้ตายเป็นเจ้ามรดก และการจัดการหนี้สินของคู่สมรส

          4. กรณีการกำหนดเหตุเรียกค่าทดแทน ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) มีการเพิ่มเติมเหตุเรียกค่าทดแทนในมาตรา 1445 โดยนอกจากการเรียกค่าทดแทนผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นแล้ว ยังได้เพิ่มเติมกรณีเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่ง “กระทำ” กับคู่หมั้นเพื่อสนองความใคร่ของผู้นั้น ซึ่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กับคณะเป็นผู้เสนอ) ไม่ได้เพิ่มเติมในประเด็นของการกระทำเพื่อสนองความใคร่

          5. กรณีการให้บุคคลสองคนทั้งคู่รักต่างเพศ คู่รักเพศเดียวกัน และคู่รักเพศหลากหลายซึ่งจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย สามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลักการดังกล่าวปรากฏในร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นางสาวอรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,611 คน) ร่วมกันเข้าชื่อเสนอ ตามมาตรา 133 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เท่านั้น ซึ่งกำหนดให้นำบทบัญญัติบรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของบิดามารดา บุพการี และบุตร มาบังคับโดยอนุโลม

          สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในวาระที่หนึ่ง ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2566 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ทั้ง 4 ฉบับ และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในวาระที่สอง โดยให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็นหลักในการพิจารณา และได้ผ่านการพิจารณาในวาระที่สองและสาม ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 31 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) แล้ว ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาจากวุฒิสภา เพื่อให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งประชาชนคาดหวังประโยชน์ที่จะได้รับจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างกระบวนการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมโดยเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัว ทำให้ครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการรับรองในกฎหมาย และสามารถแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ต่อไป

ที่มา : วันที่ 29 สิงหาคม 2567
 


[1] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….), ข้อ 3.2.1 การแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน, หน้า 3
[2] พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558
[3] อ้างแล้วใน เชิงอรรถที่ 2, ข้อ 3.2.2 การดำเนินการดังกล่าวเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร, หน้า 4
[4] เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ)
[5] ข้อมูลจากบทสรุปสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, เอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (อ.พ. 12/2566), สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หน้า ก

จัดทำโดย : นายทศวิณหุ์ เกียรติทัตต์ วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานกฎหมาย 1 สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.
นำเข้าข้อมูลโดย : นางสาวหวันยิหวา อาดำ เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กลุ่มงานผลิตเอกสารเผยแพร่ สำนักประชาสัมพันธ์
ที่มาภาพ : www.freepik.com