กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระในประเทศไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 40 บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็นหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ทั้งนี้ การตรากฎหมายเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา และมาตรา 74 บัญญัติว่ารัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัยและให้มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน และได้มอบหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารและคุ้มครองแรงงาน พัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ ให้กระทรวงแรงงานตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2555[1]
ปัจจุบัน “แรงงานนอกระบบ” หรือ “แรงงานอิสระ” เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นภายใต้การแข่งขันอย่างรุนแรงในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ทำให้รูปแบบการดำเนินงานทางเศรษฐกิจต้องมีการปรับตัวจนเกิดรูปแบบการจ้างแรงงานแบบใหม่ การเหมาช่วง และส่งผลให้แรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเกินครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแรงงานนอกระบบจะเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ เป็นผู้ที่มีส่วนสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่แรงงานนอกระบบดังกล่าวนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่ม หรือรวมตัวในการจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงาน[2]
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2565 พบว่าประชากรรวมของประเทศไทย จำนวน 66.09 ล้านคน มีจำนวนผู้มีงานทำ จำนวน 39.60 ล้านคน จำแนกออกเป็นแรงงานในระบบ จำนวน 19.40 ล้านคน และแรงงานนอกระบบ จำนวน 20.20 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 51 ของผู้มีงานทำทั้งหมด และพบว่าปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบไว้อย่างชัดเจน ทำให้แรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน หรือการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่ม หรือรวมตัวได้
ดังนั้น เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการส่งเสริมและพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กระทรวงแรงงานจึงจำเป็นต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. และกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นภายใต้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อเป็นทุนในการส่งเสริมการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้เป็นไปตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยปรับปรุงโครงสร้างของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งจำแนก “แรงงานอิสระ” ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “ผู้ประกอบอาชีพอิสระ” และ “ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ” เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมและคุ้มครองให้เหมาะสมกับแรงงานอิสระแต่ละประเภท ตามหลักการของพระราชบัญญัติแรงงานรับจ้างอิสระ (Estatuto del Trabajo Autónomo) (พระราชบัญญัติฉบับที่ 20/2007 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2007) ของประเทศสเปน ที่บัญญัติให้ “แรงงานรับจ้างอิสระที่ต้องพึ่งพา” เป็นแรงงานรับจ้างอิสระอีกประเภทหนึ่งแยกต่างหากจาก “แรงงานรับจ้างอิสระโดยแท้”
โดยแบ่งเนื้อหาของบทบัญญัติออกเป็น 9 หมวด ได้แก่
– หมวด 1 บททั่วไป
– หมวด 2 สิทธิในการรวมกลุ่มของแรงงานอิสระ
– หมวด 3 สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ
– หมวด 4 ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ
– หมวด 5 คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ
– หมวด 6 กองทุนส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ
– หมวด 7 พนักงานตรวจแรงงานอิสระ
– หมวด 8 โทษอาญา และ
– หมวด 9 มาตรการปรับเป็นพินัย
รวมทั้งกำหนดให้มีบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับการดำเนินการในวาระเริ่มแรกและการเร่งรัดให้มีการดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัตินี้ นอกจากนี้ยังได้มีการแก้ไขชื่อพระราชบัญญัติจาก “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ….” แก้ไขเป็น “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. ….” ที่ครอบคลุมสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ และสอดคล้องกับการแก้ไขถ้อยคำ คำว่า “แรงงานนอกระบบ” เป็น “แรงงานอิสระ” เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะหรือสภาพการทำงานของแรงงานตามร่างพระราชบัญญัตินี้ที่มีอิสระในการทำงาน[3]
1. กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระ (ร่างมาตรา 8) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานจัดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระตามหลักเกณฑ์ที่ปลัดกระทรวงแรงงานกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งการขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระดังกล่าว ให้จัดขึ้นทะเบียนเป็น 2 ประเภท คือผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ ทั้งนี้ โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานหรือสำนักงานแรงงานจังหวัด แล้วแต่กรณี ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและสำรวจความต้องการของแรงงานอิสระ โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานรวบรวมข้อมูลและประมวลผลสำรวจดังกล่าว และจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ เพื่อพิจารณากำหนดนโยบายและแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระต่อไป
2. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (ร่างมาตรา 9) ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพซึ่งไม่มีนายจ้าง ดังต่อไปนี้
1) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
2) ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย
3) ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการ
4) ผู้รับงานไปทำที่บ้าน
5) ผู้ผลิตเนื้อหาเรื่องใดที่ไม่ใช่การโฆษณาเพื่อเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือบริการอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน
6) ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระตามที่มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพนั้น
7) ผู้ประกอบอาชีพอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 3. ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ (ร่างมาตรา 10) ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพ ดังต่อไปนี้
1) รับจ้างหรือให้บริการขนส่งคนโดยสาร สิ่งของ หรืออาหาร ทำความสะอาด หรือบริการอื่น ๆ ซึ่งยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการตามที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนดไว้โดยได้รับค่าตอบแทนผ่านผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
2) รับจ้างหรือให้บริการตาม ข้อ 1) ซึ่งยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการตามที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนดไว้โดยได้รับค่าตอบแทนผ่านผู้ประกอบธุรกิจนั้น
4. สิทธิได้รับการส่งเสริมของผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งได้ขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระ (ร่างมาตรา 25) มีดังต่อไปนี้
1) การพัฒนาทักษะฝีมือและการศึกษาให้สอดรับกับพลวัตตลาดแรงงานของประเทศที่มีลักษณะหมุนเวียนระหว่างแรงงานในระบบกับแรงงานอิสระ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มสมรรถนะและผลิตภาพแรงงาน
2) การสร้างโอกาสในการมีงานทำและมีความมั่นคงในการทำงาน
3) การปรึกษาหรือการบริการอื่นใดเกี่ยวกับการทำงานหรือการประกอบอาชีพ
4) ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
5) การเข้าถึงหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสม
6) การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายผู้ประกอบอาชีพอิสระ
5. สิทธิได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์อื่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งเป็นสมาชิกของกองทุนส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ (ร่างมาตรา 26) มีดังต่อไปนี้
1) การกู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพหรือใช้ในการดำรงชีพ
2) การจัดให้มีประกันภัย
3) การคุ้มครองสุขภาพ
4) สิทธิประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนดการได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ให้พิจารณาจากจำนวนเงินและทรัพย์สินของกองทุนและจำนวนเงินค่าสมาชิกที่ส่งเข้ากองทุน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด
6. ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระซึ่งได้ขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระ นอกจากมีสิทธิได้รับการส่งเสริมดังกล่าวในข้อ 4 แล้ว ยังมีสิทธิได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์อื่น (ร่างมาตรา ๒๗) ดังต่อไปนี้
1) ความคุ้มครองเกี่ยวกับข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
2) การเยียวยาจากกองทุนในกรณีผู้ประกอบธุรกิจไม่จ่ายค่าตอบแทนหรือค่าตอบแทนพิเศษภายในระยะเวลาที่กำหนด
3) การร้องขอให้ผู้ประกอบธุรกิจออกใบสำคัญรับรองการทำงาน
4) การกู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพหรือใช้ในการดำรงชีพ
5) การจัดให้มีประกันภัยอุบัติเหตุในการประกอบอาชีพที่มีข้อตกลงคุ้มครองตามที่
คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อตกลงคุ้มครอง ดังต่อไปนี้
5.1) ค่าชดเชยจากการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรเนื่องจากอุบัติเหตุ
5.2) ผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุ
5.3) ผลประโยชน์ค่าชดเชยรายได้ระหว่างการเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในกรณีได้รับการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
6) การคุ้มครองสุขภาพหรือประกันภัยเสริมเพิ่มเติมจากประกันภัยอุบัติเหตุในการประกอบอาชีพตามข้อ 5)
7) การช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือการดำเนินคดี
8) สิทธิประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด
7. กำหนดห้ามผู้ประกอบธุรกิจรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าทำข้อตกลงในข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการเพื่อทำงานเป็นผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ (ร่างมาตรา 30) ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 115)
8. กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ (ร่างมาตรา 59) และให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบายและแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระในระดับจังหวัด ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายและแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือมาตรการด้านภาษีอากรเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระต่อคณะรัฐมนตรี และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระและเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (ร่างมาตรา 63)
9. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงาน เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ (ร่างมาตรา 71)
บทสรุป
จากการศึกษาสภาพปัญหา “แรงงานนอกระบบ” หรือ “แรงงานอิสระ” ที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เอื้อต่อการส่งเสริมเละคุ้มครองแรงงานอิสระเป็นการเฉพาะ ทำให้แรงงานอิสระไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ และความปลอดภัยในการทำงาน จากการศึกษาพระราชบัญญัติแรงงานรับจ้างอิสระ (Estatuto del Trabajo Autónomo) (พระราชบัญญัติฉบับที่ 20/2007 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2007) ของประเทศสเปน รวมทั้งสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. ….
จึงพิจารณาได้ว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะช่วยส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระให้ได้รับความคุ้มครองด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน และได้รับรายได้ที่เป็นธรรมและเพียงพอต่อการดำรงชีพ มีหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสม สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร รวมทั้งจะเป็นการส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งและดำเนินกิจการองค์กรแรงงานอิสระ องค์กรผู้ประกอบธุรกิจ และสภาองค์การผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นไปตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้อย่างแท้จริงต่อไป
ที่มา : วันที่ 29 สิงหาคม 2567