กิจกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ

  1. กิจกรรมที่องค์กรเคยดำเนินการและมีส่วนร่วมกับกับหน่วยงานภาครัฐ

1.1 การสร้างเสริมสุขภาวะกาย สุขภาวะจิต และสุขภาวะในการทำงาน กลุ่มแรงงานนอกระบบหรือกลุ่ม/ผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยรวมถึงเกษตรกรซึ่งมีจำนวนมากกว่า 16 ล้านคน โดยต่อยอดมาจากต้นทุนการทำงานศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  และสถาบันวิจัยระบบสุขภาพ เช่น สวรส. HITAP ฯ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ในขณะเดียวกันได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้พัฒนางานที่กลุ่มเปราะบาง กลุ่มด้อยโอกาสที่ยังไม่ตัวตนชัดเจนและยังเข้าไม่ถึงสิทธิและบริการที่ควรได้รับ โดยเฉพาะโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน ที่ยังไม่มีการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ที่ชัดเจนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงร่วมขับเคลื่อนให้เกิดเป็นนโยบายและตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข รว่มกับกรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กระทรวงแรงงาน (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน)  และสถาบันการศึกษาในภูมิภาค  จนมีการกำหนดเป็นตัวชี้วัดในระดับกรม กระทรวง และในระบบหลักประกันสุขภาพ มีการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ของกลุ่มวัยแรงงาน เพื่อให้การเข้าบริการและการจัดสรรงบประมาณในระดับนโยบายมีกรอบและแนวทางชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม ที่ไม่เคยมีมาก่อน  แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องความตระหนักรู้ของคนทำงานที่ให้ความสำคัญของรายได้ต้องมาก่อนการเจ็บป่วย จึงยังทำงานร่วมกันกับหน่วยงานและภาคประชาชนต่อเนื่อง  โดยเน้นการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ที่เข้าถึงง่าย อบอุ่นและเป็นมิตร

1.2 การขับเคลื่อนให้มีแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบฉบับที่ 1 และ 2 ต่อเนื่องควบคู่กับการนำสู่การปฏิบัติ  ร่วมกับกระทรวงแรงงาน (สำนักปลัดกระทรวง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม  มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสถาบันการศึกษาทั้งสี่ภูมิภาคและกรุงเทพฯ/ปริมณฑล  เพื่อให้เป็นกรอบแนวทางการทำงานส่งเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบที่ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ หลักประกันทางสังคม การสร้างรายได้และอาชีพ และความเป็นองค์กรหรือสถาบันของแรงงานนอกระบบ  รวมถึงการคุ้มครองสิทธิที่ควรพึงมีหรือได้รับ เนื่องด้วยความหลากหลายทั้งอาชีพ สถานภาพ สถานที่ทำงาน  มีความยืดหยุ่นสูง  และการมีกฎหมาย คุ้มครองที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง จะส่งผลต่อการเสียโอกาส เสียสิทธิที่ควรได้รับจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติ จากการสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัย และการวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มเป้าหมายควบคู่กันจึงนำมาสู่การพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับแรกและได้ร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อน “ Core team” ร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานเพื่อเชื่อมโยง ประสานหน่วยงานทั้งภายในกระทรวง ภายนอก และรวมถึงภาคประชาชน/เครือข่ายคนทำงาน และภาคการเมืองและสนับสนุนการทำงานบางส่วน เพื่อเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้กระทรวงแรงงานได้มีทรัพยากรมาดำเนินงานภายในเพื่อช่วยเร่งกระบวนการทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่มุ่งหวังและเกิดประโยชน์กับแรงงานนอกระบบภาพรวมร่วมกัน และผลักดันให้เกิดการนำสู่ปฏิบัติในระดับจังหวัด ควบคู่กับการพัฒนากลไกแรงงานนอกระบบขึ้นมาขับเคลื่อนสานต่อกับทางหน่วยงานต่างๆ ด้วยตนเอง และมีโครงสร้างที่ได้รับการยอมรับจากนโยบายในส่วนของภาคประชาชน คือ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบจังหวัด และหน่วยบริการชุมชน ส่วนของภาครัฐคือคณะอนุกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าเป็นประธาน และสำนักงานแรงงานจังหวัดเป็นเลขาฯ เชื่อมโยงการทำงานต่อเนื่องจากกระทรวง และมีความก้าวหน้าได้ระดับหนึ่งและยังร่วมทำงานต่อเนื่องในเชิงนโยบายเพื่อขยายให้เกิดความครอบคลุมแรงงานที่อยู่ในชุมชนและแรงงานนอกระบบในเมืองที่เป็น Platform การทำงานยุคใหม่ โดยยึดกรอบแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2  ซึ่งทางเครือข่ายแรงงานนอกระบบได้ร่วมขับเคลื่อนและผลักดันมาโดยตลอด

1.3 การสร้างหลักประกันทางสังคมทั้งในระหว่างทำงานและเมื่อเกษียณอายุการทำงาน ควบคู่กับการพัฒนาศักยด้านจัดการอาชีพและรายได้เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและการออม     เพื่อสร้างหลักประกันให้กับตนเองและครอบครัว :  ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม  สถาบันการศึกษา  คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ  มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กรมสงเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  สำนักงานกองทุนการออมแห่งชาติ ในการผลักดันให้มีการขยายประกันสังคมสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ  การเพิ่มสิทธิประโยชน์ และการพัฒนากลไกการส่งเงินสมทบผ่านระบบหน่วยบริการชุมชน  และการขับเคลื่อน ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ สำหรับการมีหลักประกันทางรายได้และสังคม ในช่วงวัยเกษียณอายุการทำงาน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของครอบครัว สังคมและประเทศในอนาคต ในส่วนการพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพและรายได้ ได้ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ผ่านกลไกผู้นำศุนย์ประสานงานและหน่วยบริการชุมชนซึ่งมีนโยบายและงบประมาณอยู่แล้ว ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการศึกษานอกโรงเรียน กรมพัฒนาชุมชน สำนักงานเกษตรและสหกรณ์   ในส่วนของการขับเคลื่อนการเข้าถึงสิทธิและบริการที่ครอบคลุม ทั่วถึง และเกิดประโยชน์สูงสุด ได้ร่วมกับเครือข่ายแรงงานนอกระบบผลักดันให้หน่วยงานเจ้าภาพหลักเกิดการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพิ่ม และเร่งพัฒนากลไกบังคับใช้กฎหมายลูกเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่ใกล้จะเกษียณอายุ ที่ยังเข้าไม่ถึงและด้อยโอกาสการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและช่องทางการบริการที่ไม่เอื้อต่อศักยภาพและบริบททั้งมิติพื้นที่ ลักษณะอาชีพ และสมรรถนะของแต่ละกลุ่มคน โดยทางสมาคมฯ จะเน้นการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนกลไกผู้นำและองค์กรแรงงานนอกระบบในระดับจังหวัด/ประเทศร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพหลัก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการออม การวางแผนการเงินในระดับตนเองและครอบครัว และ  เอื้ออำนวยการจัดเก็บและส่งให้กับ  ทางกองทุน เนื่องจากเป็นระบบสมัครใจ ประชาชนที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระยังให้ความสำคัญน้อย ขาดส่งต่อเนื่องอัตราการคงอยู่ของสมาชิกกองทุนลดลง การพัฒนากลไกชุมชนหรือกลุ่มอาชีพเดียวกันเรื่องการวางแผนและการจัดการการเงิน การสร้างแรงจูงใจ จึงต้องทำอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ